ในช่วงนี้หลาย ๆ โรงเรียนปิดภาคเรียนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อเด็กนักเรียนหยุดอยู่บ้าน อาจไม่มีผู้ดูแลเด็กเหมือนกับช่วงที่ไปโรงเรียน อาจชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเกิดพลัดตก ลื่น หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ ฝากเตือนผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้เองตามลำพัง เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เด็กอาจจมน้ำเสียชีวิตได้ จึงขอให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือ ไม่ควรปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือที่คุ้นเคยก็ตาม หากพาเด็กไปประกอบอาชีพ หรือทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำ ควรให้เด็กอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึงตัวเด็ก ขอความร่วมมือชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป้องกันเด็กจมน้ำ เฝ้าระวัง สำรวจแหล่งน้ำที่เป็นจุดเสี่ยงในชุมชน ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่เป็นวัสดุท้องถิ่นลอยน้ำได้ไว้ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งน้ำและทะเล ผู้ให้บริการ หน่วยงานท้องถิ่นควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ ดูแลตลอดเวลา แนวทางการป้องกันปัญหาการจมน้ำสำหรับเด็กทั้งกลุ่มเด็กเล็ก และกลุ่มเด็กโต เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองตระหนักในปัญหาเด็กจมน้ำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) แนะนำให้ใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ดังนี้
อย่าเข้าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ
อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ
อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้
ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจะถูกกอดรัดจากผู้ประสบภัย อาจจมน้ำ และเสียชีวิตไปพร้อมกัน ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้
ตะโกน คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ โรงพยาบาลใกล้เคียง
โยน คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ เป็นต้น
ยื่น คือ การยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนที่ตกน้ำจับและออกแรงดึงขึ้นมาจากน้ำ
เหตุร้ายสายด่วน 045-826208 งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669